ฝ้า คืออะไร ?
ฝ้า (Melasma) เกิดจากภาวะผิวหนังที่มีการคล้ำขึ้นอย่างผิดปกติของสีผิว เนื่องจากมีการสร้างเม็ดสี Melanin ในผิวหนังมากเกินปกติ ทำให้เกิดลักษณะเป็นปื้นราบ (patch) สีน้ำตาล รูปทรงไม่แน่นอน ซึ่งอาจมีโทนสี ความเข้ม และความคมชัดของขอบเขตแตกต่างกันไปตามปริมาณและการกระจายของเม็ดสี Melanin ในชั้นผิวหนัง มักพบบริเวณใบหน้า เช่น หน้าผากแก้มจมูก เหนือริมฝีปากบน หรือบริเวณอื่นของร่างกายที่สัมผัสกับแสงแดดเป็นประจำ
สาเหตุการเกิดฝ้า
- พันธุกรรม พบว่าหากมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นฝ้า โอกาสเกิดฝ้าก็จะสูงขึ้น
- รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จะทำให้ฝ้าคล้ำขึ้นได้และเพิ่มจำนวนขึ้น
- ฮอร์โมน มักพบว่าฝ้าที่เกิดขึ้นใหม่และฝ้าที่เป็นอยู่แล้วเข้มขึ้นภายหลังจากการได้รับยาคุมกำเนิด และขณะตั้งครรภ์
- ยา ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยากันชัก ยาที่ทำให้ผิวไวต่อแสง เป็นต้น อาจมีส่วนทำให้ฝ้าเข้มขึ้นได้
- ปัจจัยอื่นๆ แสงที่มองเห็นได้ อาจส่งผลต่อการเกิดฝ้าได้
ฝ้า มีกี่ประเภท ?
แบ่งตามสาเหตุการเกิด ได้แก่
ฝ้าแดด
เกิดจากแสงแดดซึ่งมีรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ไปกระตุ้นเซลล์ Melanocyte ทำให้มีการเพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น และทำให้การสร้างเม็ดสี Melanin ในปริมาณที่มากขึ้น
ฝ้าเลือด
มีลักษณะเด่นคือมักเป็นปื้นสีแดง เกิดจากความผิดปดติของระบบฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจากการใช้ยางบางประเภทที่เกี่ยวกับฮอร์โมน ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยบนผิวหน้าทำงานผิดปกติ เช่น เส้นเลือดฝอยแตก มีเลือดกระจุกอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งภายใต้ชั้นผิวหนัง
ฝ้าสเตียรอยด์
เกิดจากการใช้ยาหรือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ทำให้ผิวอักเสบ ผิวบางลง เกิดอาการด่างขาว และเกิดฝ้าเป็นปื้น
แบ่งตามระดับความลึก ได้แก่
ฝ้าตื้น
ลักษณะมีสีน้ำตาลเข้ม เห็นขอบได้อย่างชัดเจน เกิดในระดับผิวชั้นหนังกำพร้า ฝ้าชนิดนี้เกิดง่ายและสามารถรักษาได้ง่ายเช่นกัน
ฝ้าลึก
เกิดในระดับผิวชั้นหนังแท้ มีสีน้ำตาลอ่อนหรือ สีน้ำตาลอมเทา ขอบเขตไม่ชัดเจน มักกลืนไปกับผิว รักษายากกว่าฝ้าตื้น
ฝ้าผสม
มีทั้งฝ้าตื้นและฝ้าลึก เกิดขึ้นที่ผิวหน้า เป็นชนิดที่พบมากที่สุดในผู้ที่ประสบปัญหาเรื่องฝ้า
กระ คืออะไร ?
กระ (Freckles) เกิดจากการกระจุกตัวของเซลล์ Melanocyte หลายเซลล์ บริเวณเดียวกันเป็นหย่อม ๆ มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลจาง ๆ จนถึงเข้ม ขอบเขตชัด ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก มักพบได้ทั้งบริเวณใบหน้าหรือบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ลำคอ หลังมือ
สาเหตุการเกิดกระ
- เชื้อชาติ พันธุกรรม กระมักพบได้บ่อยในคนที่มีเชื้อชาติตะวันตก และหากมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นกระ โอกาสเป็นก็จะสูงขึ้น
- รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) กระตุ้นให้เป็นกระได้เช่นเดียวกับการเกิดฝ้า โดยเฉาะเมื่อโดนแสงแดดเป็นเวลานาน
- ฮอร์โมน เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์ ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดประจำ หรือทานยาเกี่ยวฮอร์โมน มีโอกาสเกิดฝ้าได้มากขึ้นเช่นเดียวกับฝ้า
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเซลล์ผิวเริ่มเสื่อมสภาพ ผิวบางลง จึงเกิดเป็นจุดด่างดำ ฝ้า กระได้ง่ายขึ้น
กระ มีกี่ประเภท ?
กระแดด
มักเกิดนอกร่มผ้าที่ถูกแดด เช่น ใบหน้า อกส่วนบน หลังมือ แขน เป็นต้น เมื่อเริ่มเป็นมักจะเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร จากสีน้ำตาลจางๆ ต่อมาสีจะเข้มขึ้น และรวมกันเป็นจุดใหญ่ๆ กระแดดมักพบในกลุ่มคนที่มีผิวขาวและมีการแอบแดดมาก ๆ หรือกลุ่มคนสูงอายุ
กระตื้น
มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลจุดเล็กๆ สีอ่อนถึงเข้ม ขนาด 2- 4 มิลลิเมตร มีขอบเขตชัด มักขึ้นที่บริเวณโหนกแก้มและจมูกของคนที่มีผิวขาวและบาง อาจสังเกตว่าสีจางลงได้ ถ้าเลี่ยงแสงแดด แต่จะไม่จางหายไปทั้งหมด
กระลึก
เป็นกระที่อยู่ในผิวชั้นหนังแท้ มีลักษณะเป็นแผ่น สีออกเทา ขอบเขตไม่ชัดเจน มีขนาดใหญ่กว่ากระตื้น พบได้ทั้งบริเวณโหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง หน้าผาก ขมับ และจมูก มักไม่จางหายไปเอง และจะเข้มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป การรักษาทำได้ค่อนข้างยาก พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
กระเนื้อ
มีลักษณะเป็นก้อนเม็ดเล็กๆ นูนขึ้นมาบนผิวหนัง พบได้ทั้งสีน้ำตาล ดำ หรืออาจไม่มีสีก็ได้ มักพบบ่อยบริเวณขมับโหนกแก้ม กรอบหน้า ส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายแต่บางกรณีอาจเปลี่ยนเป็นมะเร็งผิวหนังได้
ฝ้า VS กระ แตกต่างกันอย่างไร ?
ฝ้า:
- ลักษณะ: จุดสีเข้มขนาดใหญ่ มักมีขอบไม่ชัดเจน
- สี: น้ำตาลอ่อนถึงเข้ม
- ตำแหน่ง: เกิดบริเวณแก้ม หน้าผาก จมูก และริมฝีปากบน
- สาเหตุ: เกิดจากฮอร์โมน แสงแดด และพันธุกรรม
- การเกิด: มักเกิดในวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้หญิง
กระ:
- ลักษณะ: จุดเล็กๆ กระจายตัว
- สี: น้ำตาลอ่อนหรือสีส้ม
- ตำแหน่ง: เกิดได้ทั่วใบหน้า และบางครั้งก็พบที่ลำคอหรือมือ
- สาเหตุ: เกิดจากพันธุกรรมและการสัมผัสแสงแดด
- การเกิด: พบตั้งแต่วัยเด็ก และอาจเข้มขึ้นเมื่อโตขึ้น
วิธีรักษาฝ้า กระ มีอะไรบ้าง ?
การรักษาในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่ทำให้ ฝ้า กระ หายขาดได้ แต่สามารถรักษาให้จางลงและลดการกลับมาเป็นซ้ำน้อยลงได้ อย่างไรก็ตามมีฝ้า กระ บางชนิดที่สามารถกำจัดออกไปได้อย่างถาวร ดังนั้นจึงควรทราบก่อนว่าปัญหาที่พบอยู่นั้น เป็นฝ้า หรือกระแบบไหน เพื่อจะได้เลือกวิธีการรักษาได้อย่างถูกต้อง
1. การรักษาด้วยการทายา
ได้ผลดีกับผู้ที่เป็นฝ้าหรือกระที่เกิดขึ้นในผิวชั้นตื้นๆ แต่อาจต้องใช้เวลาในการทายาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไปจึงจะเห็นผล โดยยาที่ใช้รักษามีหลายชนิด ได้แก่ Retinoic Acid, Hydroxyquinone, Azelaic Acid, Kojic Acid, Corticosteroids, Glycolic Acid ซึ่งความเข้มข้นของสารในครีมทาฝ้าจะมีปริมาณแตกต่างกันออกไป ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เนื่องจากกลุ่มยาดังกล่าวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวแดง ลอกเป็นขุย ผิวบาง
2. การรักษาด้วยการผลัดเซลล์ผิว
การผลัดเซลล์ผิวหนังด้วยสารเคมี ที่เป็นการใช้สารที่มีความเป็นกรด เช่น กรดไกลโคลิก หรือการกรอผิว จะช่วยเร่งให้ผิวเกิดการผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นนอก เพื่อช่วยให้สีผิวมีความสม่ำเสมอมากขึ้น แต่ผลข้างเคียงของวิธีนี้คืออาจเสี่ยงกับการทำให้สีผิวเข้มมากขึ้น
3. การรักษาด้วยเลเซอร์
การรักษาด้วยเลเซอร์เป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และสามารถลงที่ชั้นผิวได้ลึกกว่าการทาครีมหรือการลอกผิว ซึ่งการรักษาจะใช้เลเซอร์กลุ่มที่มีความจําเพาะต่อ Melanin โดยอาศัยความสามารถของ Melanin ในการดูดซับแสงในช่วงความยาวคลื่น ประมาณ 400 ถึง 1,200 นาโนเมตร ทำให้เกิดความร้อนแพร่กระจายในเม็ดสี และเกิดการแตกตัวจนมีขนาดเล็กลง และจะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยระบบน้ำเหลือง
ปัจจุบันเลเซอร์ที่เป็นที่นิยมในการรักษาปัญหาเม็ดสี ได้แก่
- Q-switched มีช่วงเวลาปล่อยแสงสั้น ในระดับนาโนวินาที
- Picosecond มี pulse duration สั้นกว่า Q-switched มาก มีหน่วยเป็นพิโกวินาที
ทำไมฝ้า กระ ต้องเลือก Pico laser
เนื่องจาก pico laser หรือ picosecond ปล่อยพลังงานสูงในช่วงระยะเวลาที่สั้นมาก ที่ส่งพลังงานแสงความถี่สูงที่ความเร็วสูงสุด 1 ต่อล้านล้านวินาที โดย pulse width จะอยู่ในช่วง 300-750 ps ซึ่งสั้นกว่า Q-switch Laser ประมาณ 50 เท่า ทำให้เม็ดสีจึงแตกตัวละเอียดมากกว่า และไม่ทำให้เกิดการสะสมความร้อน ลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อโดยรอบ และถูกกำจัดออกตามได้อย่างง่ายดาย อ่านบทความเพิ่มเติม Pico Laser ช่วยเรื่องอะไรบ้าง ทำกี่ครั้งเห็นผล?
วิธีป้องกันฝ้า กระ ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
ฝ้า กระ แม้ว่าจะรักษาให้จางลง หรือหายแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก จึงควรดูแลผิวเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
- หลีกเลี่ยงแสงแดด หากต้องออกแดด ให้สวมหมวกหรือกางร่ม
- ทาครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB รวมถึงมีค่า SPF 50+ ขึ้นไป
- เมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ให้ทาครีมกันแดดทุก 2 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่กระตุ้นการผลิตเม็ดสีใต้ชั้นผิว
สรุป
ฝ้า มีลักษณะเป็นรอยคล้ำขนาดใหญ่ ขอบเขตไม่ชัดเจน มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการโดนแสงแดด ส่วนกระมีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลอ่อน ขนาดเล็ก มักเกิดจากการสัมผัสแสงแดด ซึ่งการรักษาในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่ทำให้ ฝ้า กระ หายขาดได้ แต่สามารถรักษาให้จางลงและลดการกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงแสงแดด ทาครีมกันแดด และเลี่ยงการรับประทานยาที่กระตุ้นการผลิตเม็ดสีใต้ชั้นผิว